ภาวะตลาดตราสารหนี้ไทย

27 มิถุนายน – 30 มิถุนายน 2559

ธนาคารแห่งประเทศไทยคาดว่าภาวะเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีจะขยายตัวดีขึ้น และมองว่าปี 2559 นี้จะสามารถเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ 3.1% จากแรงขับเคลื่อนของภาครัฐเป็นหลัก รวมถึงสัญญาณเชิงบวกจากการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ความเสี่ยงจากต่างประเทศมีมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากกรณี Brexit ซึ่งยากต่อการประเมินในเวลานี้ ด้านกระทรวงพาณิชย์ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปในเดือนมิ.ย. เพิ่มขึ้น 0.38% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งนับเป็นการปรับขึ้นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้น 0.80%

สัปดาห์ที่ผ่านมาตลาดการเงินทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ Brexit โดยพันธบัตรรัฐบาลของประเทศหลักถูกซื้อจนกระทั่งอัตราผลตอบแทนมาแตะระดับต่ำสุด สะท้อนมุมมองว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้แล้ว และยังมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางอื่น ๆ ทั่วโลกอาจเลือกที่จะผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมเพื่อป้องกันผลกระทบเชิงลบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจและภาคการเงิน จากเหตุการณ์นี้ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยโดยเฉพาะรุ่น 5-10 ปี ปรับลดลงประมาณ 0.15-0.20% ก่อนที่จะมีการแรงขายเพื่อทำกำไรในช่วงปลายสัปดาห์ ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับลดลงประมาณ 0.01-0.11% เมื่อเทียบกับสัปดาห์ก่อนหน้า

ทางด้านการประมูลพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้น อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยตั๋วเงินคลังอายุ 28 วัน อยู่ที่ 1.3260% เพิ่มขึ้น 0.026%, พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศไทยอายุ 91 วัน และ 182 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยอยู่ที่ 1.3510%, และ 1.4357% ตามลำดับ อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 0.015-0.025% ส่วนรุ่นอายุ 14 วัน อัตราผลตอบแทนเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก อยู่ที่ 1.3343% นอกจากนี้ยังมีการประมูลพันธบัตรระยะยาวอายุประมาณ 10 ปีที่ได้รับการตอบรับดีจากตลาด อัตราผลตอบแทนเฉลี่ย 1.8708% ตลอดทั้งสัปดาห์นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในพันธบัตรอายุน้อยกว่า 1 ปี จำนวน 31.3 พันล้านบาท และซื้อสุทธิในรุ่นอายุมากกว่า 1 ปี จำนวน 11.2 พันล้านบาทตามลำดับ

debt-27-30jun